ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่อง






หมวดที่ ๑. ลักษณะพระเครื่อง

พระกรุ
หมายถึง : พระเครื่องที่คนสมัยโบราณได้สร้างไว้และนำบรรจุลงกรุ เช่น เจดีย์ , ใต้ฐานพระวิหาร ฯลฯ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

พระเกจิ
หมายถึง : คำว่า "เกจิ" ย่อมาจาก "เกจิอาจารย์" หรือ พระภิกษุผู้รู้แตกฉาน ส่วนคำว่าพระเกจินั้นอาจใช้เรีกพระเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ทราบประวัติผู้สร้างและผู้ปลุกเสกอย่างแน่ชัด มีอายุไม่เกิน 200 ปี และมิได้นำพระฝังไว้ในกรุพระ

พิมพ์นิยม
หมายถึง : เป็นการกล่าวยกย่องพิมพ์ของพระเครื่อง ที่เซียนพระให้การยอมรับว่าเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากกว่าพิมพ์อื่นๆ ในจำนวนต่างๆของแม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระชุดนั้นๆ

สวย , แชมป์
หมายถึง : พระสวยมากๆ เมื่อนำไปประกวดในงานประกวดพระ ได้รับการติดรางวัลอยู่เสมอ แบบนี้เรียก "สวยแชมป์"

กริ๊บๆ , เดิมๆ
หมายถึง : พระที่เก็บรักษาให้อยู่ในสภาพดี ไม่เคยนำมาใช้หรือถูกสัมผัสมาก่อน

แท้แต่ไกล , ดูง่าย , แท้ตาเปล่า
หมายถึง : พระแท้ที่ดูง่าย จนไม่ต้องใช้กล้องส่องพระ เพียงเห็นรูป หรือองค์พระก็สามารถบอกได้ว่าเป็นพระแท้

พระอุด , ซ่อม , ศัลยกรรม
หมายถึง : พระเครื่องที่ผ่านการ ต่อเติมเสริมแต่ง จากพระที่ชำรุดให้เป็นพระสวยสภาพสมบูรณ์เพื่อหวังผลในด้านราคา

ของฟลุ๊ก
หมายถึง : การเช่าหา ได้พระมาในราคาที่ถูกหรือได้มาแบบไม่ตั้งใจ แต่เมื่อปล่อยของออกไปกลับได้ราคาดีหรือเป็นพระยอดนิยม

ของหลง
หมายถึง : พระเครื่องที่เจ้าของพระขายให้แบบถูกๆ(ตกควาย) โดยไม่ทราบข้อมูล ที่แท้จริงของพระองค์นั้น

พระสองคลอง
หมายถึง : คำนี้โดยมากมักใช้กับพระสมเด็จ เนื่องจากพระสมเด็จมีบางองค์ที่เป็นพระแท้แต่ก้ำกึ่งกันระหว่าง วัดระฆัง กับ วัดบางขุนพรหม (ดูเป็นสมเด็จวัดระฆังหรือสมเด็จวัดบางขุนพรหมก็ใช่) ดังนั้นหากเป้นพระแท้แต่ก้ำกึ่งระหว่างสองวัดซึ่งเกี่ยวกับพระเครื่ององค์นั้นๆ จะเรียกว่า "พระสองคลอง"

พระลูกย่อย , พระน้ำจิ้ม
หมายถึง : พระเครื่องรุ่นหลังๆที่วงการเล่นกัน แต่มีราคาไม่สูงนัก เรียก "พระลูกย่อย" ส่วนในกรณีที่ มีการซื้อขายพระเครื่องที่มีราคาแพง แล้วผู้ขายแถมพระให้ผู้ซื้อโดยไม่คิดมูลค่า พระแถมนี้จะเรียกว่า "พระน้ำจิ้ม"


จิ๊กซอว์
หมายถึง : พระปลอมที่ถูกถอดพิมพ์ หรือ ถูกถอดแบบจากองค์จริงที่มีความคมชัดจากนั้นก็มีการขายพระองค์นั้นไปอีกหลายมือ

พระหน้าช้ำ
หมายถึง : การที่นำพระให้เซียนหลายคนดู(แห่) แต่กลับไม่มีการซื้อขายจริง เพราะเจ้าของประเมินราคาไว้สูง(การ์ดสูง) จึงทำให้ความนิยมในพระเครื่ององค์นั้นลดลง

สึก , ช้ำ
หมายถึง : พระเครื่องที่มีความสวยงามลดลง เนื่องด้วยผ่านการใช้งานจากเจ้าของเดิมที่ห้อยไว้ใช้โดยไม่ได้เลี่ยมหรือ จับขอบพลาสติก

หูตากระพริบ ,ตาปลิ้น
หมายถึง : พระเครื่องที่สวยงามมากๆ ทุกส่วนของหน้าตา คมชัด สำหรับ "ตาปลิ้น" มักใช้กับพระเนื้อดินที่มีการกดพิมพ์ พระเนตร(ดวงตา)ขององค์พระได้ชัดเจน

พระเสริม , ของเสริม
หมายถึง : พระเครื่องที่บล๊อคพิมพ์ยังไม่ได้ถูกทำลายทิ้งหลังจากพระเครื่องชุดนั้นสร้างเสร็จ ภายหลังได้นำบล๊อคหรือแม่พิมพ์นั้นๆ มากดหรือจัดสร้างพระออกมาขาย


หมวดที่ ๒. เรื่องการซื้อขาย

เช่า (ซื้อพระ)
หมายถึง : การซื้อพระ สำหรับวงการพระเครื่อง นิยมใชัคำว่า "เช่าพระ"

ปล่อย (ขายพระ)
หมายถึง : การขายพระ ครั้นเริ่มมีการแลกเปลี่ยน/ซื้อขายพระโดยมีเงินเป็นตัวกลางสำหรับแลกเปลี่ยนจึงใช้คำว่า "ปล่อย" แทนคำว่าซื้อขาย

นั้ง (หุ้นกันซื้อพระ)
หมายถึง : การลงทุนเช่าพระ โดยนำเงินมารวมกันหลายคน เมื่อปล่อย(ขาย)พระได้แล้ว ก็นำเงินที่ได้มาแบ่งกันตามอัตราส่วนของเงินที่ลงไป

ฟิต
หมายถึง : ลักษณะของผู้เช่าพระที่แสดงออก เมื่ออยากได้พระเครื่ององค์นั้นมากๆ โดยไม่เกี่ยงราคา

สวด
หมายถึง : การติ หรือ พูดในเชิงลบให้พระเครื่อง เหตุผลของการสวดเป็นได้หลายกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ซื้อต้องการเช่าซื้อพระองค์นั้นให้ได้ราคาถูก จึงหาเหตุผลใช้ประกอบการสวด เพื่อให้ผู้ขายหรือเจ้าของพระยอมขายในราคาที่ถูกลง

องค์วิ่งหนี
หมายถึง : การเช่าพระโดยฉกฉวยเอาไปเฉยๆ อาจเป็นพระที่เจ้าของหวงแหนมาก ในขณะที่ผู้ซื้อเป็นคนรู้จัก หรือ คุ้นเคย เมื่อมีโอกาสได้ถือพระจึงฉกไปจากร้านและได้ทำการติดต่อเรื่องราคากันภายหลัง

ตุ๊ง
หมายถึง : ใช้พูดเมื่อกรณีที่การตกลงซื้อขายพระกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว แปลได้ว่า ตกลง (OK) ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเช่าและทั้งสองฝ่ายได้คุยและเข้าใจตรงกันในเรื่องของราคา และ การรับประกัน ก็จะพูดกับอีกฝ่ายว่า "งั้นตกลงตุ๊งนะ"

ทุบ
หมายถึง : ผู้ซื้อพระสามารถซื้อได้ถูกกว่าราคาที่เจ้าของได้เช่า(ซื้อ)มาก่อนหน้านี้มาก ในกรณีนี้ เจ้าของพระหรือคนขายพระ จะเรียกว่า "ถูกทุบ"

ตกควาย
หมายถึง : การขายพระผิดราคา หรือ ขายพระไปในราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง

ต้ม
หมายถึง : การใช้เล่ห์เลี่ยม เพื่อให้ลูกค้าเชื่อและพอใจที่จะเช่าซื้อพระเครื่ององค์นั้นๆ

เหนื่อย
หมายถึง : การเช่าพระแท้มาในราคาแพง ซึ่งต้องใช้เวลานานในการปล่อยเช่าต่ออีกทอดหนึ่ง ครั้งเมื่อปล่อยของออกไปกลับได้กำไรเพียงเล็กน้อย

ตอกตะปู
หมายถึง : การพูดเพื่อไม่ให้พระองค์นั้นออกมาสู่ตลาดหรือสนามพระเครื่อง

ตั๋วเด็ก
หมายถึง : ใช้ในการเช่า-ปล่อย พระ โดยได้ต่อรองราคาจาก 100% ให้เหลือ 50% หรือ ครึ่งหนึ่งของราคาที่เปิดไว้

การ์ดสูง
หมายถึง : การตั้งราคาพระไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือ ราคากลาง อาจเป็นเพราะพระเครื่ององค์นั้นมีสภาพ สวย หายากหรือ มีลักษณะโดดเด่น

ราคากลาง
หมายถึง : ราคาโดยเฉลี่ยของพระเครื่อง ที่วงการเช่า ซื้อ/ขาย ณ เวลานั้นๆ

เพดานพระ
หมายถึง : ราคาสูงสุดของพระเครื่อง ซึ่งหากเป็นพระยอดนิยม พระสวยแท้/หายาก อาจไม่มีเพดานราคา การซื้อขายอยู่ที่เจ้าของผู้ซื้อตกลงกันเอง.

อยู่กับก๊ง
หมายถึง : พระเครื่องที่เช่ามาแล้ว อาจได้มาในราคาที่แพง ครั้นเมื่อจะนำไปปล่อยหรือขายเพื่อทำกำไร แต่กลับขายต่อไม่ได้ ไม่มีใครเช่า เจ้าของต้องเก็บไว้ใช้คนเดียว

แบ่ง
หมายถึง : เจ้าของพระปล่อยของให้ลูกค้าไปในราคาที่ต่ำ หรือ ได้กำไรจากการซื้อขายน้อย อาจเป็นเพราะลูกค้าเป็นคนคุ้นเคยกัน

ใบสั่ง
หมายถึง : พระเครื่องที่มีคนต้องการ โดยมีการระบุราคา และ สภาพตามความต้องการของผู้ซื้อให้กับเซียนหรือผู้จัดหาพระ เข้ามาหาของในสนาม

โดน
หมายถึง : การเช่าพระที่ผู้ซื้อมาทราบภายหลังว่าพระที่ได้เช่าเป็นของปลอม (เก๊)

กระอักเลือด
หมายถึง : การเช่าพระปลอมมาในราคาที่สูงหรือแพงมากๆ

กลืนเลือด
หมายถึง : คนที่เช่าพระและทราบในภายหลังว่าเป็นพระปลอมแต่ก็ไม่ได้นำออกเร่ขายหรือ ปล่อยต่อให้กับคนอื่น แบบนี้เรียก "กลืนเลือด" หายากแต่น่ายกยองครับ

ราคาพระ
- ๑ บาท หมายถึง ๑๐๐ บาท
- ๑๐ บาท หมายถึง ๑,๐๐๐ บาท
- หลักหมื่น มีหน่วยเป็น "ก้อน" เช่น ๑ ก้อน หมายถึง หนึ่งหมื่นบาท
- หลักแสน มีหน่วยเป็น "ปั้น" เช่น ๑ ปั้น หมายถึง หนึ่งแสนบาท

นอกจากนี้แล้ว ราคาในแต่ละหลักยังมีการเรียกแยกย่อยไปอีก เช่น
- หมื่นเศษ(กว่า) หมายถึง ราคาที่อยู่ระหว่าง ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท
- หมื่นต้นๆ หมายถึง ราคาที่อยู่ระหว่าง ๑๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท
- หมื่นกลาง หมายถึง ราคาที่อยู่ระหว่าง ๔๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ บาท
- หมื่นปลาย หมายถึง ราคาที่อยู่ระหว่าง ๗๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท

ซึ่งในอดีตนักเลงพระรุ่นเก่าจะใช้หน่วยในการเช่าซื้อ ว่า "มือ" โดยสามารถใช้กับทุนหลัก เช่น การเช่าพระหลักร้อย ๑ มือ หมายถึง ๑๐๐ บาท ถ้าหลักพัน ๑ มือ หมายถึง ๑,๐๐๐ บาท โดยจะใช้ไปถึงหลักหมื่น และหลักแสนบาท


หมวดที่ ๓. ทั่วไป

เซียนพระ
หมายถึง : บุคคลที่มีความชำนาญในศาสตร์ของพระเครื่อง อีกทั้งได้รับการยอมรับจากคนในวงการพระเครื่อง ว่าสามารถพิจารณาระบุชี้ชัดพระเครื่ององค์นั้นๆเก๊/แท้

เสี้ยนพระ
หมายถึง : บุคคลที่อาจมีความชำนาญหรือมีความรู้ในเรื่องพระเครื่องอยู่บ้าง แต่ไม่มีจริยะธรรม หรือ ไม่ซื่อสัตย์ต่อทั้งตนเองและลูกค้า โดยภาพรวม "เสี้ยน" ใช้เรียกคนที่ขายพระปลอม พระเก๊ คนที่ขายพระแล้วไม่รับผิดชอบ ซึ่งทำให้มาตรฐานของวงการพระเครื่องต่ำลง

ผีสนาม
หมายถึง : คนที่อยู่ตามแผงหรือสนามพระที่มีอัธยาศัยดี เข้ากับเซียนพระต่างๆได้ทั่วสนาม แต่ไม่มีร้านเป็นของตัวเอง

รังใหญ่
หมายถึง : บุคคลที่สะสมพระเครื่องไว้เป็นจำนวนมากๆ

รังแตก
หมายถึง : บุคคลที่สะสมพระเครื่องไว้เป็นจำนวนมากๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไปพระเครื่องชุดนั้นๆได้รับความนิยม และเจ้าของนำออกมาปล่อยในสนาม จำนวนมากๆ จะเรียกว่า "รังแตก"

พระหลัก , ของหลัก
หมายถึง :พระเครื่องยอดนิยมที่มีราคาค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น พระเครื่องชุดเบญจภาคี มี พระสมเด็จ พระรอดวัดมหาวัน พระผงสุพรรณ พระนงพญา พระซุ้มกอ เป็นต้น

ของเล่น
หมายถึง : ของเก๊ที่ดูง่ายๆ หรือ ไม่ใกล้เคียงกับของแท้

ของเล่นได้
หมายถึง : พระที่นำไปปล่อยขายได้ โดยไม่ได้ทำการตรวจสอบ (อาจเป็นพระที่กำกึ่งหระว่า เก๊/แท้)

แห่
หมายถึง : การนำพระที่ได้ ไปทำการตรวจว่าเช๊คว่าแท้หรือไม่ โดยการนำพระไปให้เซียนในสนามหลายๆคนช่วยดู

ใช้ , โชว์
หมายถึง : พระเครื่องที่เจ้าของพระเชื่อมั่นศรัทธาในพุทธคุณ หรืออาจมีความผูกพันธ์ เนื่องจากเป็นมรดกตกทอดหรือเป็นของที่ผู้ใหญ่มอบให้

ยัดกรุ , ยัดวัด
หมายถึง : พระเครื่องที่ไม่ทราบประวัติการสร้างแน่นอน แต่ คนขายหรือเซียน(บางคน)อาจมีข้อมูล เพื่อโน้มน้าวให้เข้าใจว่าพระเครื่ององค์นั้นเป็นของวัดที่มีชื่อเสียง เพื่อให้พระองค์นั้นมีราคาแพงขึ้น

ปาดคอ
หมายถึง : พระปลอมที่ทำได้ใกล้เคียงกับของแท้มากๆ จะถูกเรียกว่า "เก๊ปาดคอเซียน"

หลงทาง , เล่นพระด้วยหู
หมายถึง : การเช่าพระโดยไม่ใช้สายตาและประสบการณ์ในการตัดสินใจเช่าพระ แต่กลับไปฟังเรื่องเล่าจากผู้ขายที่ต้องการปล่อยพระ

เล่นพระผิดทาง
หมายถึง : การเล่นพระที่แตกต่างจากแนวมาตรฐาน ที่วงการพระเครื่องเล่นกันหรือเล่นพระเก๊เป็นพระแท้ , เล่นพระแท้เป้นพระเก๊

นิทาน , นิยาย , ฉายหนัง
หมายถึง : เรื่องราวที่คนขาย หรือ เจ้าของพระเล่าประกอบอ้างถึงในการขายพระให้กับลูกค้า ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเรื่องจริง , เรื่องจริงที่เสริมเติมแต่ง หรือ เรื่องลวงโลก อุปโลกสร้างขึ้นมาเพื่อหวังผลในการขาย

กรุแตก
หมายถึง : การพบพระเครื่องที่คนสมัยโบราณบรรจุเก็บไว้ในกรุ หรือ อาจใช้เรียกเวลาที่บุคคลที่สะสมเก็บพระกรุไว้เป็นจำนวนมาก แล้วนำพระออกมาแสดง หรือ นำมาปล่อย (คล้ายกับคำว่า "รังแตก")

ชุกซัว , ซาลูตู้ , กระตู้ฮู้ , ดุ๊ย , เก๊
หมายถึง : แปลว่าเก๊ ไม่มีพุทธคุณ หรือบางกรณีหากเซียนพูดว่า "ดูยาก" ก็มีนัยยะแปลว่าเก๊ได้เหมือนกัน เพราะบางครั้งเซียนบางท่านก็ลำบากใจที่จะกล่าวว่าพระองค์นั้นเก๊ จึงใช้คำว่า "ดูยาก" เป็นทางออก เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจเจ้าของพระ

ไม่ถึงยุค , อายุไม่ถึง
หมายถึง : โดยนัยยะ แปลว่าเก๊ได้เหมือนกัน

ชีวิตเปลี่ยน
หมายถึง : การเช่าพระเก๊ ในราคา พระแท้

ตายเกลื่อน
หมายถึง : พระปลอมที่มีฝีมือในการปลอมได้เหมือนของจริงขนาดเซียนยังโดน และ เมื่อมีของชุดนี้เข้าไปในสนาม ทั้งเซียนรุ่นใหญ่/เล็ก , เจ้าของแผง ฯลฯ ต่างได้เช่าซื้อเก็บไว้ แบบนี้เรียกว่า "ตายเกลื่อน"

ซีปัง ภาษาจีน
หมายถึง : แปลว่าสี่เหลี่ยม แต่วงการพระใช้เรียกแทน พระสมเด็จ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการลากเสียงยาวเป็น "สี่ปัง"

ไกนั้ง ภาษาจีน
หมายถึง : แปลว่า ขอมีหุ้นหรือขอเอี่ยวด้วยคน ในขณะที่วงการพระจะพูดสั้นๆ ว่า "นั้ง" แต่ยังมีความหมายเช่นเดิม

ซึ้ง
หมายถึง : สวยประทับใจ

บูรณะ
หมายถึง : พระที่ผ่านการซ่อมมาแล้ว

สนนราคา
หมายถึง : ราคาประมาณ

ไทเกอร์
หมายถึง : นำพระของผู้อื่นไปขายทำกำไรก่อนแล้ว จึงกลับมาจ่ายเงินภายหลัง ซึ่งหมายถึงการจับเสือมือเปล่า

กระสุน
หมายถึง : แปลว่าพระไม่แท้ พระไม่ได้มาตรฐานตามสากล


(- เพิ่มเติม -)

ศัพท์เฉพาะวงการพระเครื่อง
ความ หมายของคำศัพท์ นอกเหนือจากพจนานุกรมแล้ว ยังมีคำศัพท์จำนวนมากที่ใช้กัน อยู่อย่างแพร่หลายในวงการต่างๆ ทั้งวงการบันเทิง วงการกีฬา วงการการเมือง วงการไฮโซ วงการช่าง วงการแท็กซี่ ฯลฯ รวมทั้ง วงการพระเครื่อง จุดเด่นที่น่าสนใจของคำศัพท์เฉพาะวงการ คือ ความหมายจะแตกต่างจากคำแปลในพจนานุกรมอย่างสิ้นเชิง ความหมายจะแตกต่างกันเป็นคนละเรื่องกันเลย

นายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ ผู้อำนวยการ สำนักพิมพ์คเณศ์พร และ ประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง ซึ่งคร่ำหวอด อยู่ในวงการทำหนังสือ พระเครื่องมาหลายสิบปี บอกว่า ใน วงการพระเครื่อง มีคำศัพท์เกิดขึ้นมากมาย แต่จะเรียกว่า "ภาษาเซียน"

คำศัพท์เหล่านี้เป็นการพูดเล่นๆ กันก่อน จากนั้นก็พูดต่อๆ กันจนได้รับความนิยม วงการพระเครื่องมีคำศัพท์เกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกวัน แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ที่ไม่มีการบันทึกคำศัพท์เหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน

ภาษาเซียน เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย เมื่อเซียนพระรุ่นก่อนๆ ตกยุคไป ภาษาเซียนก็จะตกยุคตามไปด้วย เช่น คำว่า ซาลูตู้ หมายถึง ใช้ไม่ได้ โง่ ไม่รู้เรื่อง หรือหมายถึง พระเก๊ คำนี้ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินพูดกัน แต่ก็มีหลายคำ ที่ยังถูกนำมาใช้กันในหมู่เซียนพระ เช่นคำว่า ตก *** สวด

ในขณะที่ นายอภิชัย กุลอนรรฆพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในนาม เปี้ย ท่าพระจันทร์ พูดถึงที่มาของภาษาเซียนว่า จุดเริ่มต้นอยู่ที่ตลาดพระท่าพระจันทร์ เพราะเป็นตลาดซื้อพระเก่าแก่

การเกิดของภาษาเซียนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากพูดกัน ระหว่างเซียนพระก่อน จากนั้นก็ขยายวงกว้างออกสู่สนามพระอื่นๆ แต่ก็มีอยู่หลายคำที่มาจากคนภายนอก เมื่อเซียนพระได้ยินก็จะนำมาพูดต่อๆ กัน จนกลายเป็นภาษาเซียน

ส่วนเหตุผลที่ต้องมีภาษาเซียนนั้น น่าจะเป็นการพูดเพื่อป้องกันความปลอดภัยของตัวเซียนพระ โดยเฉพาะในหมวดของคำที่เกี่ยวข้องกับ "พระเก๊" หรือ "พระปลอม" จะมีการคิดคำแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมามากที่สุด

การจะบอกว่า พระองค์ใดองค์หนึ่งว่าเป็น พระปลอมจะทำให้เจ้าของพระโกรธ เพราะพระบาง องค์เจ้าของได้รับ การสืบทอดมาจากรุ่นทวด แต่เจ้าของ พระลืมไปว่า การปลอมพระมีกันมาตั้งแต่รุ่นทวดเช่นกัน

เปี้ย บอกด้วยว่า นอกจากภาษาเซียนแล้ว วงการพระยังมี ภาษามือด้วย โดยจะใช้นิ้วชี้แล้วงอนิ้วลงมา ซึ่งหมายถึงพระเก๊นั่นเอง หรืออาจจะพูดว่าหงิก แต่ใช้มือเป็นสัญลักษณ์แทน

ส่วนคำว่า ซาลูตู้ ซึ่งหมายถึง พระเก๊นั้น มาจากชื่อของผู้ชายจีนคนหนึ่ง คือ นายซูลู แซ่ตู้ วันหนึ่งได้นำพระนับร้อยองค์เข้ามาขายใน ตลาดท่าพระจันทร์ ปรากฏว่าเป็นพระเก๊ทั้งหมด จากนั้นเซียนพระก็จะใช้คำว่า ซาลูตู้ แทนการพูดว่าพระเก๊


ทางด้าน นายนุ เพชรรัตน์ เซียนพระรุ่นใหม่ บอกว่า นอกจากนักเลง พระรุ่นก่อนได้คิดภาษาเซียนแล้ว นักเลงพระยังตั้งบัญญัติ "อย่า ๑๐ ประการ" เป็นคำกลอนสอนเซียนด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าเซียนพระคนใดยึดปฏิบัติ วงการพระเครื่องก็น่าจะมีการพัฒนามากกว่านี้


"บัญญัติอย่า ๑๐ ประการ" ที่ว่าคือ

อย่า...ทำตนไถพระเขาฟรี อย่า...อวดดีอย่างคางคก

อย่า...ฟูมฟกเมื่อเจอพระเก๊ อย่า...ทำเก๋ชักดาบเขา

อย่า...มัวเมาเล่นจนหลง อย่า...พะวงพระลาวตกรถ

อย่า...ใจคดทุบหม้อข้าว อย่า...เช่าพระใกล้พลบค่ำ

อย่า...ลูบคลำพระถูเหงื่อ อย่า...เชื่อหูแต่จงเชื่อตา

ขอขอบคุณ ต้นฉบับโดย : ไตรเทพ ไกรงู

นสพ.คม ชัด ลึก วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2547

ต้นเรื่อง : เวปไซด์ โจ้ อิศวเรศ พระเครื่อง

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือเก็บพระให้เป็น เห็นแต่งอกเงย : ผู้แต่ง ษรวัฒน์

Publication By : P.som ส.สกุณา