เหรียญที่ระลึก สร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พ.ศ.๒๕๒๕

นามานุกรมสังคมพระออนไลน์
Directory Ready Reference Phra On-line

เรื่อง : เหรียญที่ระลึก สร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พ.ศ.๒๕๒๕ 
โดย : พี่ส้ม ส.สกุณา



สร้างโดยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการจัดหาทุนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ พญาเม็งราย พญาร่วง พญางำเมือง เพื่อระลึกถึงการก่อตั้งนครเชียงใหม่ มีการเปิดให้ประชาชนเช่าบูชา และ นำรายได้ที่ได้รับเป็นทุนในการก่อสร้างฯ โดย กรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการสร้าง หลังจากสร้างเหรียญสามกษัตริย์เสร็จเรียบร้อย คณะกรรมการฯจึงได้เดินทางนำเหรียญฯให้หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แผ่เมตตาจิต ณ. วัดดอนแม่ปั่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๕ ทั้งยังได้รับความเมตตาจากพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูป อธิฐาน​จิต​ปลุกเสก​อีกหลายวาระ ดังนี้ หลวง​พ่อเกษม​ สุสานไตรลักษณ์​ ครูบาสร้อย​ วัดอุดมมงคลคีรีเขตต์​ ครูบาธรรมชัย​ ธรรมชัยโย ครูบาชัยยวงษา​ วัดพระพุทธบาท​ห้วยต้ม หลวงปู่โง่น​ ยโสธโร หลวงพ่อ​ฤาษีลิงดำ​ วัดท่าซุง เป็นต้นฯ มีการสมโภชน์พิธีพุทธาภิเศกอย่างยิ่งใหญ่ อีกครั้งในวันพฤหัสบดี ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๕  ณ.วัดเชียงมั่น อ.เมือง จ.เชียงใหม่  โดยพระคณาจารย์ พระสงฆ์ร่วมพิธีปลุกเสกหลายรูป เช่น ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี ฯ

  • หน้าเหรียญจัดทำเป็นรูปครึ่งพระองค์ของ พญางำเมือง พญาเม็งราย และพญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง) หลังเหรียญกึ่งกลางรูปฉัตร ฐานของฉัตรมีช้างสามเศียร (ช้างไอยราวัณ หรือ เอราวัณ) สันนิฐานว่าแบบมาจากฉัตร พระธาตุดอยสุเทพฯ ข้อความว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญาเม็งราย พญางำเมือง พ.ศ.๒๕๒๕ มีการตอกโค๊ด ช จำนวนสร้าง ทองคำ เงิน และเหรียญทองแดง 
  • ไม่ได้มีการระบุพระนามใต้พระฉายาลักษณ์ ถ้าเทียบรูปเหรียญกับพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ จะได้ข้อมูลดังนี้ องค์ซ้ายมือ คือ พญางำเมือง องค์กลาง คือ พญาเม็งราย ขวามือ คือพญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหงฯ) หลังเหรียญบนสุดระบุพระนาม "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ส่วนนี้ถ้าหากใช้คำว่า "พญาร่วง" จะกระชับ และ เข้ากับบริบทท้องถิ่นมากกว่า
  • มุมมองตามตำนาน เมืองเชียงใหม่สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.๑๘๓๙ ส่วนความคิดที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์มีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ โครงการฯก่อสร้างเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ถึง พ.ศ.๒๕๒๗ การสร้างพระราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ออกแบบและปั้นหล่อโดย ไข่มุกต์ ชูโต ศิลปินแห่งชาติ สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ ที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๖ และ ประกอบพระราชพิธีเปิด วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๗ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีการจัดงานสมโภชเมืองเชียงใหม่ครบ ๗๐๐ ปี ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีกิจกรรมต่างๆมากมายเพื่อส่งเสริมความเป็นล้านนาฯอย่างกว้างขวาง .., หากมองดูเหตุการณ์ช่วงนี้เชิงประวัติศาสตร์ ย้อนไปยุคสมัยพระเจ้ากาวิละฯ ที่กล่าวว่าเป็นยุค "เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าเข้าเมือง " บริบทของเมืองเชียงใหม่ ที่อายุครบ ๗๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ก็คงเช่นเดียวกัน หากแต่ไม่ใช่การเก็บไพร่พลหรือผู้คนที่สูญหายกลับมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด แต่เป็นเรื่องของการศึกษา รื้อฟื้นข้อมูลเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตรวมไปถึงจิตวิญญาณล้านนา ที่ได้สูญหายไปตามกาลเวลา.., ให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง?!!
  • ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๕ มีประเด็นร้อนๆเรื่อง  " สามกษัตริย์สร้างเมืองเชียงใหม่จริงหรือ ? " เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ ในแวดวงของนักวิชาการฯ และ มีการเผยแผ่ในสังคมออนไลน์ และเป็นประเด็นอยู่ ณ ตอนนี้ฯ ส่วนท่านที่สนใจศึกษาเรื่องนี้ ลองติดตาม ประวัติศาสตร์นอกตำรา ประเด็นเรื่อง “ส่องหลักฐาน” 3 กษัตริย์ ไม่ได้ร่วมกันสร้างเชียงใหม่ โดย อ.สมฤทธิ์ ลือชัย ได้ที่  https://youtu.be/nwiwknjlyyM * ต่อด้วย มติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี " เรื่อง ปิดศักราช 725 ปีเชียงใหม่ กับปรากฏการณ์คำถาม ‘นครนี้ใครสร้าง?’ / ปริศนาโบราณคดี "  โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ https://www.matichonweekly.com/column/article_552356