พระลือหน้ายักษ์

นามานุกรมสังคมพระออนไลน์
Directory Ready Reference Phra On-line


เรื่อง : พระลือหน้ายักษ์

โดย : สจ.บอม เมืองน่าน





 


พระลือหน้ายักษ์ พระพิมพ์หนึ่งในหมวดพระลือ ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่มีความงดงามพิมพ์หนึ่งในพระสกุลลำพูน สมัยก่อน ปี 2540 เจอกันแต่แม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ แต่ไม่ปรากฏว่าพบเจอพระ การพบพิมพ์พระลือหน้ายักษ์ ตอนแรกพบโดย ตุ๊เจ้าแสน หรือพระครูบาแสน วัดอัฏฐารส (สมัยก่อนยังไม่ได้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดพระธาตุ) ซึ่งเป็นผู้ขุดพบแม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์  ที่บริเวณทุ่งกู่ร้าง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดประตูลี้ ซึ่งพบเจอ 2 ชิ้น * ตุ๊เจ้าแสนได้ใช้เศษดินของพระเก่า ๆ ที่ชำรุด มาเป็นส่วนผสมแล้วกดพิมพ์สร้างขึ้นมา ราวปี พ.ศ. 2429 โดยตุ๊เจ้าแสนน่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายผู้ที่คุ้นเคยเพื่อนำไปสักการบูชา เพราะด้วยเป็นพระที่มีพุทธศิลป์ที่งดงามเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ยังไม่เคยมีใครเคยพบมาก่อนในเมืองลำพูน ครั้นต่อมาเมื่อตุ๊เจ้าแสนชราภาพก็มีความกังวลกลัวว่าจะมีคนนำไปปลอมแปลงสร้างขึ้นมาใหม่อีก จึงได้ตัดสินใจนำแม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ทั้งสองไปทิ้งไว้ในบ่อน้ำภายในวัดพระธาตุหริภุญไชย ต่อมาเมื่อเวลาล่วงเลยอีกหลายปี  หนานสม(ทิดสม) ได้ลงไปงมสิ่งของในบ่อน้ำนั้น และได้แม่พิมพ์พระลือทั้งสองชิ้นขึ้นมา จึงมีความคิดว่าจะสร้างพระลือหน้ายักษ์ออกมาจำหน่าย และก็ได้ลงมือทำพระลือหน้ายักษ์ออกมาตั้งแต่ประมาณปี 2474 สรุปพระลือหน้ายักษ์ของแท้ไม่มีอยู่จริง โดยแบ่งของปลอมออกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นตุ๊เจ้าแสน และรุ่นของหนานสม และนอกเหนือจากนั้นก็มีการทำต่อ ๆกันมาอีกหลายรุ่น และที่ทุ่งกู่ร้าง นี้เองที่มีการขุดพบเจอแม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ ซึ่งนอกเหนือจากการขุดพบเจอแม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ ก็มีการขุดพบเจอพระพิมพ์ของลำพูนอีกหลาย ๆพิมพ์เป็นต้นว่า พระคง พระสาม พระลือหน้ามงคล(พิมพ์กรุประตูลี้) พระสิบสอง พระสิบแปด เป็นต้น ซึ่งทำให้เชื่อว่า พระลือหน้ายักษ์น่าจะมีอยู่จริง เพียงแต่ยังไม่มีผู้ใดพบเจอ เพราะเชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้เลยที่ช่างจะสร้างแต่แม่พิมพ์แต่ไม่สร้างพระพิมพ์ที่มาจากแม่พิมพ์นั้น 


*** พระลือหน้ายักษ์ ที่มีการสร้างในยุคต่อมา ที่เห็นจะโด่งดังก็เห็นจะเป็น พระลือ(หน้ายักษ์) ชัยไตรมาส ปี ๒๕๑๖ หลวงปู่แหวน ได้เมตตาพุทธาภิเษกขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์วัดไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถือได้ว่าเป็นพระเนื้อดินยุคแรกๆที่ท่านหลวงปู่แหวนได้เมตตาปลุกเสกให้ และยังมีการสร้างพระพิมพ์พระลือหน้ายักษ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยเรียกว่าเกศาครูบาพิมพ์พระลือหน้ายักษ์ ทำให้เราสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นพระลือหน้ายักษ์ของตุ๊เจ้าแสนหรือของหนานสม และของหลวงปู่แหวนก็ยังไม่ใช่พระลือหน้ายักษ์ของแท้ ดั้งเดิม 


*** จนเมื่อ ปลายปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีการค้นพบพระลือหน้ายักษ์ที่เป็นของแท้ โดยครั้งแรกที่พบเจอ พบเจอพระพิมพ์ซึ่งก็คือพิมพ์พระลือหน้ามงคล ของพิมพ์วัดประตูประตูลี้ ที่ บริเวณเล้าไก่ ใกล้เรือนเพาะชำ ของเทศบาลเมืองลำพูน ประมาณ 10 กว่าองค์ ซึ่งที่ตั้งของเทศบาลลำพูน อยู่ห่างจากแม่น้ำกวงประมาณ 30 เมตร และอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดประตูลี้ ซึ่งพระลือหน้ามงคลที่พบเจอลักษณะของผิวยุ่ยเปื่อย เนื่องจากใกล้กับแหล่งน้ำ จากนั้นผู้ขุดได้ขุดบริเวณเนินดินด้านข้างต่อ พบเศษดินกี่เก่า (อิฐเก่า) ขนาดใหญ่ ที่ใช้สร้างกำแพง หลังจากขุดลึกลงไปก็พบหม้อดินเผา ลักษณะคล้ายกับหม้อเก็บกระดูกสมัยโบราณ แตกอยู่ในดิน และพบพระพิมพ์จำนวนหลายพันองค์ ปนอยู่กับเศษหม้อดิน ภายหลังเมื่อนำมาคัดแยกแล้ว ปรากฏว่า มีพระ ๕ พิมพ์ด้วยกัน คือ 1.พระคง ประมาณ 200 กว่าองค์ 2.พระบาง ประมาณ 500 กว่าองค์ 3.พระเลี่ยง ประมาณ 300 กว่าองค์ 4.พระลือพิมพ์เล็ก ประมาณ 50 กว่า องค์ และ 5.พระลือหน้ายักษ์ ประมาณ 50 กว่าองค์


*** นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์ต่างๆ ของสกุลลำพูน เช่น พระกวาง พระสิบสอง พระเลี่ยงหลวง พระพิมพ์พุทธคยา และพระเนื้อดินขนาดใหญ่ สมัยหริภุญชัย ทั้งนั่งและยืน แต่หักชำรุดเป็นส่วนใหญ่ หลังจากการขุดพบครั้งแรก อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ในเวลากลางคืน มีการขุดพบหม้อดินเผาแบบเดียวกันอีก ๑ ใบ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน โดยผู้ขุดชุดเดิม บางคน พบพระ 5 พิมพ์ ปริมาณใกล้เคียงกับที่ขุดได้ครั้งแรก ซึ่งรวมกันทุกพิมพ์ก็มีจำนวนหลักพันองค์ ทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ นั่นทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระลือหน้ายักษ์ ที่เป็นเพียงตำนาน ก็กลายมาเป็นความจริง และเนื่องจากพระลือหน้ายักษ์ที่เป็นของแท้มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้ที่ศรัทธาและเสาะแสวงหามาบูชาเลยทำให้พระลือหน้ายักษ์มีราคาเช่าหาค่อนข้างแพงมาก


cr. https://www.thairath.co.th/lifestyle/amulet/2326382